สารทไทย หรือบุญข้าวสาก ประเพณีบุญเดือนสิบ
ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10
เป็นเทศกาลทำบุญเดือน 10 ของไทย
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเพณีการทำบุญในเดือน 10
จะทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เรียกบุญข้าวสาก
”สารท" หมายถึงสิ่งใด
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่าคำว่า "สารท" เป็นคำอินเดียหมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "ออทั่ม" หรือฤดูใบไม้ร่วงซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรปจีนและอินเดียตอนเหนือเท่านั้นช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพรรณธัญชาติและผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดูดังนั้นประชาชนจึงรู้สึกยินดีและถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริงจึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"
โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือเพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้เช่นพิธีปงคัลในอินเดียตอนใต้ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนมเรียกว่าข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศเป็นต้น
สำหรับในพจนานุกรมไทย "สารท" มีความหมายว่าเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปีซึ่งมักจะตกราวๆปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
“สารทไทย” จัดขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมาย
- เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณเพราะเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่มีโอกาสหมดหนี้กรรมได้ไปเกิดหรือมีความสุข
- ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้านเป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้านบ้านใกล้เรือนเคียงทำให้ได้พบปะกัน
- เป็นการแสดงความเคารพและอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
- เป็นการกระทำจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภขจัดความตระหนี่ได้
- เป็นการบำรุงหรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
- เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพหรือผีไร่ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดีเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมการทำนาเป็นอาชีพหลักในช่วงเดือน 10 นี้ข้าวกล้ากำลังงอกงามและรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุกจึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
การทำบุญ “วันสารท” นี้มีในหลายภูมิภาค
โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
ภาคกลางเรียกว่า "สารทไทย"
ภาคเหนือเรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
ภาคอีสานเรียก "ทำบุญข้าวสาก"
ภาคใต้เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
ถึงแม้ว่าการทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันแต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือการทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปีและเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วแต่อาจมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้างดังนี้
ภาคกลาง
ประเพณีวันสารทไทยถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลางเมื่อใกล้ถึงวันสารทชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปตักบาตรและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหารไปทำบุญกรวดน้ำที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับและถือศีลฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แม่พระโพสพผีนาผีไร่ด้วยเมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นาโดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกันคือทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะดังนี้
ระยะแรกก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพองและข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่นๆเพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสากซึ่งคนไทยภาคกลางเรียกว่ากระยาสารทเมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อยก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้องเพื่อนฝูงถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืนนอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนไปด้วยเรียกว่าส่งเขาส่งเราผลัดกันไปผลัดกันมาเป็นการแลกเปลี่ยนกันส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้นจะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้เรียกว่าส่งข้าวสาก
ระยะที่สองคือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เวลาเช้าชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัดอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วแต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีลฟังเทศน์เมื่อถึงเวลาใกล้เพลก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่งมีห่อข้าวน้อยห่อข้าวใหญ่ข้าวสากและอาหารอื่นๆบางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วยเมื่อถึงวัดแล้วก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อนบางแห่งนิยมทำเป็นสลากชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใดก็ถวายรูปนั้นทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัตจึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่าการทำบุญข้าวสากก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
ส่วนห่อข้าวน้อยห่อข้าวใหญ่ชาวบ้านแจกกันเองห่อข้าวน้อยนั้นเมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียวถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้านเก็บไว้ในเวลาต่อไปเพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้งเช่นปลาแห้งเนื้อแห้งซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานานๆถือคติว่าเอาไปกินในปรโลกประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้วจะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสากหรือถวายกระยาสารทเท่านั้น
สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้นวิธีห่อผิดกับทางภาคกลางเพราะห่อด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัดหัว-ท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามาของที่ใส่ในห่อมีข้าวต้ม (ข้าวเหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสากแกงเนื้อแกงปลาหมากพลูบุหรี่ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ๆเอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้รั้วบ้านเมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปงเป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่งกะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้วชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุนใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่นเรียกว่าแย่งเปรต
ของที่แย่งเปรตไปได้นี้ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นาเพื่อเลี้ยงตาแฮก (ยักษิณีหรือเทพารักษ์รักษาไร่นาซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน 6 มาครั้งหนึ่งแล้ว) นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กกินเพราะถือว่าเด็กที่กินแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ภาคเหนือ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือมีชื่อเรียกว่า "ตานก๋วยสลาก" หรือทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง) และมีชื่ออื่นๆอีกตามแต่ในท้องถิ่นเช่นตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก, กิ๋นก๋วยสลากหรือกิ๋นสลากคำว่า "ก๋วย" แปลว่า "ตะกร้า"หรือ "ชะลอม" ส่วน "สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลากนับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมีตำนานเล่าว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้นถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมากนางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัตแล้วให้พระสงฆ์-สามเณรจับสลากด้วยหลักอปโลกนกรรมคือสิ่งของที่ถวายมีทั้งของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับการถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปีเพราะช่วงนี้ชาวนาจะได้หยุดพักหลังจากทำนาเสร็จแล้วขณะที่พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหนบวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุกเช่นลำไยมะไฟส้มโอเป็นต้นและยังเป็นการสงเคราะห์คนยากจนเช่นชาวนาที่ฐานะไม่ค่อยดีไม่มีข้าวเหลือพอก่อนฤดูเก็บเกี่ยวจึงนับว่าเป็นการให้สังฆทานได้กุศลแรง
ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันจะเรียกว่า "วันดา" หรือ "วันสุกดิบ" เป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆสำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลากเช่นเกลือข้าวสารหอมกะปิชิ้นปิ้งเนื้อเค็มจิ้นแห้งแคบหมูเมี่ยงบุหรี่ไม้ขีดไฟเทียนไขสีย้อมผ้าผลไม้ต่างๆเป็นต้น
วันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมไฮ่ฮอม (ทำบุญ) และมาร่วมจัดดาสลากด้วยซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกันผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่างๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตองหรือตองจี๋กุ๊กเมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็กๆสำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้างตามแต่กำลังศรัทธาและฐานะแต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสาน "ก๋วย" เป็นจึงใช้ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของต่างๆแทน
ก๋วยสลากมีอยู่ 2 ลักษณะคือ
1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับทั้งญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่นช้างม้าวัวควายและสุนัขเป็นต้นหรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้นถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดีเป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ "สลากโชค" มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคนมักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลากเช่นผ้าห่มที่นอนหมอนหม้อนึ่งไหข้าวหม้อแกงถ้วยชามช้อนร่มเครื่องนุ่งห่มอาหารแห้งต่างๆและเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่างๆต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา
ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัดต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อนโดยเส้นสลากนี้ผู้เป็นเจ้าของก๋วยสลากจะเอาใบลานมาตัดเป็นเส้นยาวๆความกว้าง 2-3 นิ้วแล้วจารึกชื่อของเจ้าของไว้บอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้างแต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษคำจารึกในเส้นนั้นมักจะเขียนดังนี้
เจติตานํสลากข้าวซองนี้หมายมีผู้ข้าชื่อ...........ของทานไว้กับตนกับตัวภายหน้า ขอหื้อสุขสามประการมีนิพพานเป๋นยอดแด่เน้อ.............ฯ
เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้วเส้นสลากจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ในวิหารหน้าพระประธานจากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละรายแล้วเขียนหมายเลขเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปโดยการจับสลากในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่างๆรูปละ 5 เส้น 10 เส้นบ้างแล้วแต่กรณีส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ
ก่อนจะถึงเวลาเพลพระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่านโดยเริ่มจากเจ้าอาวาสพระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใดก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมาก่อนที่จะมีการเส้นสลาก (จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลากเมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้ศีลให้พรเจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
งานสารทไทยภาคเหนือที่เป็นเอกลักษณ์อีกแห่งคือ "งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง" ของจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไข่งานนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 และจัดต่อเนื่องมาเรื่อยๆเนื่องจากเห็นว่ากล้วยไข่จะออกผลมากในช่วงเดือนกันยายนพอดีและสามารถรับประทานเคียงกับกระยาสารทซึ่งเป็นขนมประจำวันสารทไทยได้เป็นอย่างดีจึงเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดไปในตัว
ภาคใต้
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วในเดือน 10 เป็น 2 วาระคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ครั้งหนึ่งและวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 อีกครั้งหนึ่งโดยถือคติว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้นจะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ดังนั้นจึงมีการทำบุญใน 2 วาระดังกล่าวนี้แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ
1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบโดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2. ประเพณีทำบุญวันสารทโดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดียเหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้วบางครั้งก็เรียกว่าประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบซึ่งที่รู้จักกันดีคือประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
3. ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่าหมับแปลว่าสำรับ) การยกหมรับและการชิงเปรตคำว่าจัดหมรับได้แก่การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุโดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อๆการยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัดพร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพลจะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญกล่าวคือเมื่อจัดหมรับยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรตโดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่างคือขนมพองโดยหมายถึงจะให้เป็นแพฟ่องล่องลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ, ขนมลาให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม, ขนมกงหรืองบางทีก็ใช้ขนมไข่ปลาให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอยและขนมบ้าให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควรเรียกว่าร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรตมีสายสิญจน์วงรอบโดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุลซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับพอเก็บสายสิญจน์แล้วก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานเรียกว่าชิงเปรตแล้วนำมากินถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคลการทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้บางครั้งเรียกว่าการฉลองหมรับและบังสุกุลถือว่าสำคัญเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยซึ่งต่อมาได้มีการจัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
4. ประเพณีทำบุญตายายหรือประเพณีรับ-ส่งตายายโดยถือคติว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายายเมื่อท่านมาก็ทำบุญรับเมื่อท่านกลับก็ส่งกลับจึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่าทำบุญตายาย
ขนมประจำวันสารทไทย
กระยาสารทเป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทยด้วยมีความเชื่อว่าถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้วญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้นขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบคือข้าวตอกข้าวเม่าถั่วงาและน้ำตาลนำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกันเมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลมหรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้
สำหรับการกวนกระยาสารทนั้นต้องใช้เวลาและแรงคนหลายๆคนจึงจะทำเสร็จได้ดังนั้นการกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัวเมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้นหากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัวการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย
นอกจากกระยาสารทแล้วก็ยังมีขนมอื่นๆเช่นขนมลาขนมพองขนมกงขนมไข่ปลาขนมเทียนขนมดีซำขนมบ้า
ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้อง 2 คนคนโตชื่อว่ามหาการน้องชื่อจุลการมีไร่นากว้างใหญ่ในฤดูที่ข้าวออกรวงคนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่าวิปัสสีแต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อยน้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่าข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนาซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะสำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมาแล้วต้มในน้ำนมสดเจือด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
ข้าวมธุปายาสคือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้งมีตำนานเล่าว่านางสุชาดาลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บนและได้เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ก็เข้าใจว่าพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวายพระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจึงมีความเชื่อกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารวิเศษผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยอุดมด้วยสติปัญญาและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ข้าวทิพย์หมายถึงอาหารอันโอชะที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด (หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลักๆก็มี 9 อย่างคือน้ำนมข้าวเนยน้ำอ้อยน้ำผึ้งน้ำตาลนมถั่วงาและข้าวเม่าซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่างเช่นต้องใช้สาวพรหมจารีกวนฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้นส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า "สุริยกานต์" เป็นต้น
สำหรับวันสารทไทยในปี 2565 ตรงกับวันวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน เราคนรุ่นใหม่อย่าลืมช่วยกันรักษาประเพณีไทยนี้ไว้เพื่อไม่ให้ความเป็นไทยสูญหายไปตามกาลเวลา
ขอบคุณบทความจาก : kapook.com